ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำจัดทำฝายแม้ว มีลักษณะอย่างไร มารู้กัน

1 กรกฎาคม 2562

 ฝายแม้ว เป็นชื่อเรียก โครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับ วิศวกรรม แบบพื้นบ้าน ฝายแม้วเป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวรประเภทหนึ่ง ประเภทเดียวกับฝายคอกหมู โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นกิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อกั้นชะลอน้ำในลำธาร หรือทางน้ำเล็กๆ ให้ไหลช้าลง และขังอยู่ในพื้นที่นานพอที่จะพื้นที่รอบๆจะได้ดูดซึมไปใช้ เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความชุ่มชื้นมากพอที่จะพัฒนาการเป็นป่าสมบูรณ์ขึ้นได้ ฝายแม้วยังอาจใช้เพื่อการทดน้ำ ให้มีระดับสูงพอที่จะดึงน้ำไปใช้ในคลองส่งน้ำได้ในฤดูแล้ง

ประเภทของฝายชะลอน้ำหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น แบ่งได้ ๒ ประเภท 

๑. ฝายต้นน้ำลำธาร หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นฝายที่กักเก็บน้ำให้ไหลช้าลง และสามารถซึมลงใต้ผิวดิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นบริเวณนั้น

๒. ฝายดักตะกอนดิน ทราย เป็นฝายที่ดักตะกอนดินและทรายไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง

 รูปแบบของฝายสามารถแบ่งออกได้ ๓ แบบ 

๑. แบบท้องถิ่นเบื้องต้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ฝายแม้ว" เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุมีอยู่ตามธรรมชาติที่ เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย หรือร่องน้ำ โดยจะสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่รอบๆ ฝายได้ ๒. แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร เป็นการก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วย หรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน ๓. แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ ทำให้สามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างขึ้นอยู่กับขนาดของลำห้วย ซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน ๔ เมตร

ประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ

๑. ช่วยเก็บกักน้ำ ๒. ช่วยลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า ๓. ช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ๔. ช่วยกักเก็บตะกอนและวัสดุต่างๆ ที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วย ๕. ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ๖. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค

แนวทางการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร/ฝายชะลอน้ำ

         1. การเลือกสถานที่ก่อสร้าง 

            ในการเลือกจุดที่ก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ ประโยชน์ที่จะได้รับจากฝาย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำ ด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ ด้านเกษตรกรรม ตลอด จนด้านชุมชน นอกจากนี้การกำหนดพื้นที่ที่จะก่อสร้าง ยังต้องขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ความจำเป็น และความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย 

        2. การเลือกวัสดุสำหรับก่อสร้าง 

        รูปแบบของฝายต้นน้ำลำธาร สามารถแบ่งแยกออกตามวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็น2 แบบด้วยกัน คือ วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น เศษไม้ ปลายไม้ และเศษวัชพืช หินขนาดต่าง ๆ ที่หาได้ในพื้นที่ และวัสดุที่จะต้องจัดซื้อ เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น กรวด ทราย การเลือกวัสดุแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดและวัตถุประสงค์ รวมทั้งสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำ และปัจจัยต่างๆ ในแต่ละจุด    

     3. การกำหนดขนาดของฝาย             

           ขนาดของฝายไม่มีการกำหนดขนาดตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

        3.1 พื้นที่รับน้ำของแต่ละลำห้วย 

        3.2 ความลาดชันของพื้นที่ 

        3.3 สภาพของดินและการชะล้างพังทลายของดิน 

        3.5 ความกว้าง-ลึกของลำห้วย         

        3.4 ปริมาณน้ำฝน 

        3.6 วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง

    4. วิธีการก่อสร้าง     

        การก่อสร้างฝายแต่ละฝายขึ้นอยู่กับชนิดและวัสดุที่ใช้ ถ้าเป็นฝายผสมผสาน เช่น ฝายเศษไม้ และฝายกระสอบทราย เป็นเพียงการนำวัสดุดังกล่าวมาวางกองรวมกันเพื่อขวางร่องห้วย โดยใช้หลักเสาไม้ หรือเสาคอนกรีตปักยึดให้ลึกพอสมควรก็เพียงพอ เนื่องจากฝายดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับต้น ๆ ของลำห้วย ซึ่งมีปริมาณน้ำและความรุนแรงของการไหลไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องการความแข็งแรงนัก ประกอบกับฝายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกรองตะกอนไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่มีการเก็บกักน้ำ จึงสามารถสร้างได้ทั่ว ๆ ไปไม่มีข้อกำหนดมากนัก 

        ส่วนฝายกึ่งถาวร และฝายถาวร เช่น ฝายหินเรียงและฝายคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น ในการก่อสร้างควรเน้นเรื่องความแข็งแรงเป็นหลัก ควรมีการวางฐานรากที่แข็งแรงให้เพียงพอ โดยการเจาะลึกลงไปในพื้นที่ร่องห้วยให้ถึงดินแข็งหรือชั้นหินประมาณ 1 เมตร และมีสันฝายลึกเข้าไปในผนังร่องห้วยทั้งสองด้านอย่างน้อยข้างละ 1.00 - 1.50 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินในแต่ละห้วยด้วย หรืออาจใช้วิธีการอย่างอื่นเพื่อเสริมความแข็งแรงของตัวฝายให้มากขึ้นก็ได้ อนึ่งในการก่อสร้างฝายแต่ละชนิด ถ้าเป็นฝายกึ่งถาวรหรือฝายถาวรที่มีการเก็บกักน้ำ ควรคำนึงถึงทางระบายน้ำหรือทางน้ำล้นให้เพียงพอกันกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ไม่เช่นนั้นอาจจะกระทบกระเทือนกับโครงสร้างของฝายนั้น ๆ ได้

ประมวลภาพกิจกรรมการทำฝาย อบต.จะแหน